Night Diamond Bloody Red - Busy

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข้อคิดที่ทำให้รวยได้อย่างมหาเศรษฐี WARREN BUFFETT


WARREN BUFFET มหาเศรษฐีที่พูดได้ว่าไม่เคยหลุดจาก 5 อันดับของมหาเศรษฐีระดับโลก  นักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลก ที่เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนเน้นคุณค่า  ลูกศิษย์ของเบนจามิน เกรแฮม เจ้าของทฤษฎี Margin of Safety ซึ่งบัฟเฟต์ได้พัฒนาตัวเอง และสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าอาจารย์อีกด้วย
Warren Edward Buffett  เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ปัจจุบันอายุ 82 ปี ที่โอมาฮา, เนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา    ชีวิตของเขาเริ่มต้นเมื่ออายุ 11 ปี เขาได้ซื้อหุ้นครั้งแรก และได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ วอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและได้ย้ายไปเรียน และจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในปี 1951 วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เป็นนักลงทุน นักธุรกิจและผู้ใจบุญชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากการจัดอันดับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ รวยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกทุกปี 



อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มหาเศรษฐี WARREN BUFFETT สามารถคงอันดับมหาเศรษฐีระดับโลก 1 ใน 5 มาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน   วันนี้ เรา ได้รวบรวมวิธีที่จะทำให้คุณรวยได้อย่าง Warren Buffett มาเป็นข้อคิดสร้างแรงบันดาลใจ

1. จงเป็นผู้มัธยัสถ์
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้นเวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคมยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง เขามีเวลาสำหรับใช้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ยิ่งกว่านั้นเขายังกดดันให้ผู้บริหารของกิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์และพยายามจำกัดค่าค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น

2. จงยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม
การมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุอาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์และด้านการขนส่งทางรถไฟ

3. จงเดินทวนกระแส
บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้วเขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้ามเนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐานก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น

4. จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ
บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี้ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น

5. จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด
ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง

6. จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ
ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา “มูลค่าภายใน” (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้าย ๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมาก ๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (margin of safety) สูงมาก บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มาก ๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปีเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่าง ๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์

7. จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ
เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” สูงมาก ๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น

8. จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว
บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละราว 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท
แล้วอีกข้อที่สำคัญมากคือ “จงรู้ว่า ความสำเร็จในความคิดของคุณเป็นอย่างไร”  นักธุรกิจที่ดีต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการทำธุรกิจ ลงทุนของตนเป็นอย่างไร  Warren Buffet กล่าวว่า  ตอนสมัยหนุ่มๆ คนเราอาจวัดความสำเร็จว่ามีเงิน มีความมั่งคั่งมากเพียงไหน   แต่พอผ่านมีช่วงชีวิตหนึ่งความสำเร็จความภูมิใจในความเป็นจริงอาจเป็นแค่ การมีครอบครัวที่รักกันอบอุ่น ก็เพียงพอกับการมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครรับข้อมูลเพื่อติดตามข่าวสาร

-